ประวัติเพลงคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ

รวบรวมละเรียบเรียงโดย
นสภ.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์


แต่ครั้งการสถาปนาโรงเรียนปรุงยาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จนเปลี่ยนแปลงมาเป็นคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ นั้น มีการร้องรำทำเพลง และมีเพลงที่ใช้ในการเต้นรำภายในคณะหลายเพลง แต่ที่ถือเป็นเพลงประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีสองเพลงคู่กันคือ มาร์ชเภสัช และเพลง เภสัช หรือ เภสัชเกียรติกำจร โดยถือเป็นประเพณีเดิมของนักศึกษาน้องใหม่ของคณะต้องส่งตัวแทนชาย-หญิง 12 คน ขึ้นเวทีร้องเพลงในงานต้อนรับน้องใหม่ทั้งสองเพลงข้างต้น มีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้ฝึกสอนร้อง  กรมประชาสัมพันธ์

                
เพลง มาร์ชเภสัช เป็นผลงานการประพันธ์ของ เภสัชกร พันโท สำเริง อุทัยวรรณ  สำเร็จการศึกษาเภสัชศาสตรบัณฑิตในปี พ.ศ. 2494 และคุณเกษม สุงวงศ์ นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์โดยใช้ทำนองเพลง March จากอุปรากรเรื่อง AIDA ซึ่งการฝึกร้องกับครูเอื้อ จะเน้นเรื่องการออกเสียงให้ชัดเจนทุกถ้อยคำ และเพลง เภสัช หรือที่นิยมเรียกในภายหลังว่า เภสัชเกียรติกำจร เพื่อระบุให้ตรงกับเนื้อเพลงนั้น เดิมเป็นเพลงจังหวะมาร์ช แต่การขับร้องต่อมาภายหลังได้ผิดเพี้ยนไป และได้รับคำยืนยันจากรายการสารพันเพลง ในปี พ.ศ. 2547 ว่าไม่ใช่จังหวะมาร์ช จึงมีการฝึกซ้อมร้องใหม่ เพลงดังกล่าวประพันธ์โดยวงสุนทราภรณ์ ปัจจุบันได้รับความนิยมใช้ขับร้องในคณะเภสัชศาสตร์หลายสถาบัน
                
คณะเภสัชศาสตร์มีความผูกพันกับวงสุนทราภรณ์อย่างยิ่ง งานของคณะส่วนใหญ่ได้เชิญวงสุนทราภรณ์แทบทุกครั้ง ทั้งงานปีใหม่ งานชาวใต้ งานต้อนรับน้องใหม่ นักศึกษาในขณะนั้นจึงคิดการให้วงสุนทราภรณ์ประพันธ์เพลงให้กับคณะเภสัชศาสตร์ หนึ่งนั้นคือ เภสัชกรหญิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธิดา ถาวรเศรษฐ์ ขอให้รุ่นพี่-น้อง ร่วมประพันธ์เพลงบรรยายสภาพแวดล้อมต่างๆ ของคณะ ด้วยวงสุนทราภรณ์ไม่อาจสื่อความหมายของคณะได้อย่างชัดเจน แต่ก็ไม่มีผู้ใดร่วมส่งโคลงกลอน เภสัชกรหญิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธิดา ถาวรเศรษฐ์จึงได้ประพันธ์คำร้องเพลง อำลาอาลัย ขึ้น โดยให้วงสุนทราภรณ์ประพันธ์ทำนองเพลงให้
                
นอกจากนี้ยังมีเพลง เสน่ห์เภสัช ซึ่งบรรยายข้อมูลของคณะเภสัชศาสตร์ในสมัยนั้น (ณ อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบัน) เดิมมีสระน้ำปลูกบัวอยู่ด้านหน้าอาคาร เป็นท่าน้ำที่ชาวเภสัชนิยมนั่งเล่นทำกิจกรรมต่างๆ ข้างสระมีต้นไม้ใหญ่กอหนึ่ง ซึ่งปรากฏในเนื้อเพลงเพลงนี้ว่า กอเตยแต่ เภสัชกร ศาสตราจารย์ ดร. วิเชียร จีรวงส์ อดีตคณบดีได้ปรารภว่า มันคือต้น ลำเจียกมิใช่ กอเตยอย่างในบทเพลง แต่อย่างไรก็ดี เพลงนี้ได้ประพันธ์แล้วจึงมิได้ทำการแก้ไขเนื้อร้องแต่อย่างใด บทเพลงแต่งโดยใช้จังหวะแทงโก้ ใช้ในงานเต้นรำลีลาศในสมัยนั้น ต่อมาได้ปรับจังหวะและใช้เป็นเพลงสันทนาการของคณะ เสน่ห์เภสัชเป็นผลงานการประพันธ์คำร้องของศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ และประพันธ์ทำนองโดยวงสุนทราภรณ์
                
นอกจากการร้องเพลงเชียร์แล้วนั้น ยังมีการรำวง ซึ่งมีเพลงรำวงของชาวเภสัช คือ เภสัชสุภา ผลงานการประพันธ์คำร้องของศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ และประพันธ์ทำนองโดยวงสุนทราภรณ์ และยังมีเพลง รำลง แตแล่นแต ที่เภสัชกร ศาสตราจารย์ เกลียว บุนนาค นำมาเผยแพร่ แต่ไม่ทราบที่มาของบทเพลงอย่างชัดเจน เพลง รำวงรำไทย  ซึ่งดัดแปลงมาจากเพลง สีเพลิงของคณะครุศาสตร์  เพลง รำวงสีไพร ประพันธ์คำร้องโดย เภสัชกร ปราโมทย์ ตันวัฒนะและเพลง ติงหน็องต่องเชียง ที่เภสัชกร พิชิต จัดเจน นายกสโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2507 เป็นผู้นำมาเผยแพร่
                
อีกเพลงหนึ่งซึ่งเป็นเพลงสุดท้ายที่วงสุนทราภรณ์ประพันธ์ให้คือเพลง ดาราเภสัช โดยใช้จังหวะรุมบ้าที่สนุกสนาน แต่ปัจจุบันมีการร้องที่ผิดเพี้ยนไปเป็นเพลงช้า เพลงนี้ขับร้องและประพันธ์ทำนองโดยครูเอื้อ สุนทรสนาน และประพันธ์คำร้องโดยศรีสวัสดิ์ พิจิตรวรการ รวมเพลงที่วงสุนทราภรณ์ประพันธ์ให้กับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4 เพลง
                
งาน Farewell
ส่วนเพลง เกียรติและนาม... ผลงานการประพันธ์ของ เภสัชกร อนุสรณ์ จิรชวาล ได้รับการเผยแพร่โดย เภสัชกร กิตติเชิด ชมธวัช เพลง ลา และ วันเผด็จศึก ประพันธ์โดย เภสัชกร ปราโมทย์ ตันวัฒนะ นอกจากนี้ยังมีเพลงที่แต่งขึ้นโดยธนิต ผลประเสริฐ วงธนิตสรณ์ (อดีตนักร้องวงสุนทราภรณ์) เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลงอีก 4 เพลง ได้แก่ มงคลนาม ประพันธ์คำร้องโดยเยาวลักษณ์ โกมารกุล ณ นคร อดีตนักร้องวงสุนทราภรณ์ โดยใช้จังหวะกะลัวช่า เพลง เภสัชฉลองชัย, เพลง เภสัชสามัคคี ในจังหวะบีกิน และเพลง เภสัชสังสรรค์ ในจังหวะโซล ซ่า ซ่า ซ่า โดยสองเพลงหลังนี้ประพันธ์คำร้องโดยเภสัชกร นายแพทย์ ภิญโญ กัลยาณมิตร


หมายเหตุ

1. ใช้คำว่า นักศึกษาเนื่องจากขณะนั้นคณะได้สังกัดกับมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน ซึ่งได้โอนย้ายกลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา
2. เพลงส่วนใหญ่ไม่มีการระบุชื่อมหาวิทยาลัยลงไป เนื่องด้วยสมัยนั้นมีคณะเภสัชศาสตร์เพียงคณะเดียวในประเทศ

อ้างอิง

                ปราโมทย์ ตันวัฒนะ, ภก. รวมเพลงเภสัช. 2553.
                ภิญโญ กัลยาณมิตร, ภก.นพ.,  “ผมรุ่นที่เก้า (เภสัชบัณฑิต พ.ศ. 2495)ใน 72 ปี เภสัชศาสตร์. 2529:39-41.
                สุทธาทิพย์ จันทรสกุล, ภญ.รศ. ตำนานเพลง เภสัช”” 90 ปี การศึกษาเภสัชศาสตร์และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2548: 140-143.