ประวัติสโมสร


อาคารคณะเภสัชศาสตร์เดิม หรือ "ตึกเทา"
ปัจจุบันคือคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสโมสรระดับนิสิตนักศึกษาเภสัชศาสตร์สโมสรแรกในประเทศไทย แต่เดิมการทำกิจกรรมของนักเรียนแพทย์ปรุงยาในสมัยเป็นโรงเรียนปรุงยาสังกัดโรงเรียนราชแพทยาลัย (พ.ศ. 2457 – 2460) จะเข้าร่วมกับนักเรียนแพทย์เสียหมด เนื่องจากมีจำนวนน้อยกว่านักเรียนแพทย์มาก ต่อมาเมื่อมีการยกระดับขึ้นสังกัดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่มีหลักฐานปรากฏถึงการรวมกลุ่มของนิสิตปรุงยาในสมัยนั้น พบแต่เพียงหลักฐานปรากฏการเลือกตั้งหัวหน้านิสิตเป็นชั้นปี จนกระทั่งแผนกอิสระเภสัชกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โอนย้ายเป็น “คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ปรากฏหลักฐานการทำกิจกรรมของนักศึกษาเภสัชศาสตร์สมัยนั้น เป็นกิจกรรมภายในคณะเสียส่วนมาก เนื่องจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์มีคณะกระจัดกระจาย มหาวิทยาลัยไม่ได้รวมอยู่บนพื้นที่เดียวกัน มีกิจกรรมเก็บสมุนไพรที่อำเภอหัวหิน การจัดงานสังสรรค์รื่นเริง ตลอดจนการจัดทำเภสัชสารขึ้น เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางเภสัชกรรมแก่ประชาชนโดยทั่วไป มีการเลือกคณะกรรมการนักศึกษาเภสัชศาสตร์ขึ้น เพื่อเป็นตัวแทนในการดำเนินการในส่วนภาคนักศึกษา ประกอบด้วยกรรมการกลางเป็นนักศึกษา 8 คน
    

การออกค่ายเสือป่าของนิสิตปรุงยา พ.ศ. 2467
ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 ในสมัยที่ศาสตราจารย์ เภสัชกรจำลอง สุวคนธ์ ดำรงตำแหน่งคณบดี มีดำริและเห็นพ้องกับหมู่มวลนักศึกษาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น จากการร่วมจัดกิจกรรมที่หลากหลายให้จัดตั้งเป็น “สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์” ขึ้น โดยมิได้ใส่นามมหาวิทยาลัยข้างท้ายชื่อสโมสรเนื่องจากขณะนั้นมีคณะเภสัชศาสตร์เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีประธานกรรมการสโมสรฯ เป็นหัวหน้านักศึกษา แบ่งการดำเนินการออกเป็น 4 แผนกกับ 1 ฝ่ายคือ แผนกกีฬากลางแจ้ง แผนกกีฬาในร่ม แผนกบรรเทิง แผนกสวัสดิการ และฝ่ายปฏิคม

กีฬาเภสัชสัมพันธ์
ภายในคณะเภสัชศาสตร์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ในขณะนั้น มีงานรื่นเริงจำนวนมาก แต่ยังไม่มีเพลงประจำคณะเภสัชศาสตร์ เภสัชกร พันโทสำเริง อุทัยวรรณ ร่วมกับนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่งเพลง “มาร์ชเภสัช” โดยใช้ทำนองเพลงอุปรากรเรื่อง March Inda นอกจากนี้ยังมีเพลงที่วงสุนทราภรณ์ประพันธ์ให้กับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์อีกถึง 4 เพลง คือ เพลง “เภสัชเกียรติกำจร” หรือเพลง “เภสัช” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเพลงประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เพลง “ดาราเภสัช” เพลง “เสน่ห์เภสัช” และเพลง “อำลาอาลัย” ที่ ผศ.ภญ.ธิดา ถาวรเศรษฐ์ มาประพันธ์คำร้องให้

นิสิตเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์
ในการเดินขบวนประท้วงปี พ.ศ. 2505
ต่อมาเมื่อคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้ย้ายสังกัดอีก 2 ครั้งคือ มหาวิทยาลัยมหิดล และกลับมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2515 สโมสรนักศึกษาเภสัชศาสตร์ได้โอนย้ายไปตามคณะฯ จนสุดท้ายได้นามว่า “สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” และประกาศกฎสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นใช้ และเริ่มดำเนินกิจกรรมร่วมกับสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สนจ.) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 และจัดตั้งชมรมเภสัชเพื่อชุมชน (ภ.ช.ช.) ขึ้นในปี พ.ศ. 2518

ปัจจุบันสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินงานในระเบียบคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วย การดำเนินกิจกรรมของสโมสรนิสิต คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2554 ซึ่งถือเป็นระเบียบฉบับที่ 6 นับแต่สโมสรฯ ย้ายสังกัดเข้าสู่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 7 ฝ่าย คือฝ่ายวิชาชีพ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายนิสิตสัมพันธ์ ฝ่ายหารายได้ ฝ่ายกีฬา ฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ ฝ่ายศิลปวัฒนธรรม และ 7 แผนกคือ แผนกพัสดุและสถานที่ แผนกศิลปกรรม แผนกสวัสดิการและพยาบาล แผนกแสงและเสียง แผนกเทคโนโลยีและสารนเทศ และแผนกโสตและทัศนูปกรณ์

การดำเนินงานของสโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีการขยายตัวไปมาก มีการจัดตั้งศูนย์และหน่วยงานเฉพาะขึ้น เพื่อดำเนินกิจกรรมเฉพาะด้าน รวมถึงการจัดตั้งชมรมโดยนิสิต เพื่อให้สโมสรนิสิตเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นส่วนเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะนอกชั้นเรียนแก่นิสิตเภสัชศาสตร์ และเป็นสโมสรนิสิตแห่งความเป็นเลิศ สมกับเป็นที่พึ่งพาและดำเนินกิจกรรมส่งเสริมคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสืบไป